หากคุณผู้ชมเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่อง batman the dark knight คงต้องรู้จักตัวร้ายของเรื่องเป็นอย่างดีนั่นคือ joker แต่ใครจะรู้บ้างว่าตัวร้ายอย่าง joker ก็แอบแฝงปรัชญาที่น่าสนใจไว้ในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ก็ได้มีสมาชิก pantip.com คนหนึ่งออกมาโพสต์ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาที่น่าสนใจในภาพยนตร์ให้คุณผู้อ่านได้ลองคิดและติดตาม เชื่อว่าอาจมีประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย โดยสมาชิก pantip คนหนึ่งที่ชื่อ Dmaj ได้โพส ลงในกระทู้โดยมีข้อความดังนี้
(( joker เชื่อว่าโลกแห่งความจริงคือโลกที่โหดร้าย ทุกคนล้วนมีด้านมืดในจิตใจ เพียงแต่ว่า บริบทของสังคม จะเป็นตัวกำหนด ธาตุแท้ของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ถึงคราวจนตรอก joker เปรียบเสมือนตัวแทนของของความชั่วร้ายนั้น เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ไม่มีใครที่จะดีเลิศ ประเสริฐศรี หลอก แม้แต่กลับคนที่ดีแสนดีแค่ไหนก็สามารถเป็นคนชั่วร้ายได้เช่นกัน ))
ไม่ รู้ว่าคุณผู้กำกับ Nolan ชอบขบคิดปัญหาเชิงปรัชญามากน้อยแค่ไหน ถึงได้มีมุมมองต่อ Batman ได้ลึกซึ้งแถมยังตีความหนัง superhero ออกมายังกับนิยายสอนปรัชญา กับคำถามโลกแตกว่าแก่นแท้ของมนุษย์คือความเลว หรือความดี ทำเอาปมขัดแย้งในใจของ Spiderman กลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ นี่เป็นหนังปรัชญาที่เอา Batman มาเป็นตัวดำเนินเรื่องเพื่อให้ผู้ชมรับเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
การตั้ง คำถามที่ยากขนาดนี้ให้กับคนดู แล้วใช้ Batman เป็นคนบรรยายเรื่องราว เป็นวิธีที่ฉลาดมากในการดึงคนดูให้อยู่กับเนื้อเรื่อง (แน่นอนว่าต้องมีฝีมือในการกำกับหนังให้ออกมาดีด้วย ไม่ใช่เอาแต่เนื้อหาแต่ภาพห่วย) และมันยังทำให้ Batman กลายเป็นฮีโร่ที่ดูเป็นของจริง ที่จับต้องได้มากกว่าฮีโร่ในหนังเรื่องอื่นๆที่ผ่านมา เพราะคนที่ดูแล้วมักจะพูดว่าเมืองไทยตอนนี้ก็คล้ายๆ ในหนัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Batman ของ Nolan คือคนธรรมดาคนนึงที่เลือกเดินตามอุดมคติของตัวเอง อุดมคติที่เืชื่อว่าลึกๆแล้วมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นคนดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องปกป้อง Batman อยากจะให้ Gotham เป็นที่ๆคนดีๆจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เหมือนกับใครหลายๆคนที่อยากให้เมืองไทยเป็นที่ๆน่าอยู่
แล้วในที่สุดคนที่ยึดมั่นในอุดมคติ ก็ต้องเจอกับคนที่เห็นตรงข้ามอย่าง Joker หรือคนที่เชื่อว่าโลกแห่งความจริงคือโลกที่โหดร้าย เป็นที่ๆพร้อมจะกลืนกินผู้รักอุดมคติเป็นอาหาร ความขัดแย้งนี้ดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด โดยที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในความคิดของตัวเอง สิ่งที่คนที่อยากเป็นพระเอกมักมองข้ามไปก็คือว่า เพื่อแลกกับอุดมคติที่เขาแสวงหาแล้ว เขาต้องสูญเสียอะไรบ้าง หนังได้ดึงเอา Two-face มาเป็นตัวแทนของคนที่เคยเชื่อในความดิ แต่ในที่สุดแล้วก็รับไม่ได้กับสิ่งที่ตัวเองต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับ อุดมคติที่เขาแสวงหา จนกลายเป็นผู้ร้ายไปเสียเอง ตรงนี้ก็เกิดคำถามโลกแตกขึ้นอีกอันหนึ่งว่า
"จะตายอย่างวีรบุรุษ หรือจะอยู่นานพอที่จะเห็นตัวเองกลายเป็นวายร้าย"
Joker " โจ๊กเกอร์ "
หากจะมีใครสักคน ที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายทั้งมวลในโลกนี้ เชื่อว่าอาชญากรที่ซ่อนใบหน้าไว้ภายใต้รูปลักษณ์ของตัวตลกคนนี้ จะต้องเป็นหนึ่งในแคนดิเดตอันดับต้นๆแน่นอน
โจ๊กเกอร์ ไม่เคยมีเหตุผลในการทำความชั่ว ไม่เคยลดหย่อนปรานีปราศรัยใดๆ ไม่แม้แต่จะคิดในการผลาญหนึ่งชีวิตหรือหลายๆชีวิต ด้วยความไร้เหตุผล เพียงเพราะความสนุกสนานของเขา แต่อะไรที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้นล่ะ
หนังไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องอดีตของเขา (และน่าจะเป็นความตั้งใจที่ทำให้เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาไปเรื่อยๆ) แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ตัวตนนี้ของเขาต้องเกิดมาจากความเลวร้ายของมนุษย์ (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม) ซึ่งมันก็มากซะจนที่ว่าเขาสูญเสีย "ความเชื่อ" ในความดีงามในตัวคนทุกคนไป และเกิดความเชื่ออันแรงกล้าอีกอย่างขึ้นมาแทนที่ นั่นคือความเชื่อที่ว่า มนุษย์นั้นไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ที่มีสัญชาตญานการฆ่าอยู่ในสายเลือด ไม่เคยที่จะทำอะไรถ้าไม่มีผลประโยชน์ของตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง สังคมมนุษย์นั้นไม่มีวันอยู่กันอย่างสงบสุขได้ เพราะคนจ้องที่แต่จะทำลายล้างเพื่อให้ตนอยู่รอดและมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น การที่เขาพูดว่า "ชอบที่จะเห็นคนเวลากำลังจะตาย เพราะจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของคนนั้น" แสดงให้เห็นว่าเขามีความเชื่อมั่นในส่วนนี้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม
แนวคิดของเขา เหมือนกับแนวคิดเรื่อง "อณาธิปไตย" โลกที่เต็มไปด้วยการฆ่าฟัน ที่เคยมีการศึกษากันมาในอดีต คำกล่าวที่ว่า "Welcome to the world without rules" ดูจะบ่งบอกถึงความคิดของเขา และเขาคงไม่ต้องการอะไรมากกว่าจะเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่เขาคิด และเขาก็แตกฉานในเรื่องนี้จริงๆซะด้วย เห็นได้จากการกระทำของเขาในแต่ละครั้ง ที่บังคับให้"เหยื่อ" ต้องแสดงธาตุแท้ในด้านมืดของเขาเหล่านั้นออกมา
หรือจะกล่าวว่าเขาเป็นมากกว่าอาชญากรโรคจิต แต่เป็นนักคิดในเชิง Realism ที่นำความคิดมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างน่ากลัวและท้าทายด้านมืดในจิตใจของสังคมอย่างที่สุดก็เป็นได้
ในตอนที่เขาพูดกับแบทแมน ถึงเรื่องของสังคม ที่เวลาต้องการคนดี ที่เป็น "ฮีโร่"อย่างแบทแมน ก็จะออกมาสรรเสริญเยินยอ ปกป้องเต็มที่ แต่เมื่อใดก็ตามที่สังคมหมดผลประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของฮีโร่คนนั้นแล้ว สังคมก็พร้อมที่จะทอดทิ้ง และถีบหัวส่งฮีโร่ อดีตขวัญใจของพวกเขาอย่างง่ายดาย ซึ่งผมว่าตรงนี้ โจ๊กเกอร์ "อ่านขาด" จริงๆครับ (และเนื้อหาประเด็นนี้ ผมว่าตรงกับสภาพสังคมบ้านเราอย่างน่ากลัว)
แต่ถึงแม้โจ๊กเกอร์จะลึกซึ้งในความคิดของเขาอย่างไร เขาก็ลืมสิ่งสำคัญไปข้อนึง เพราะโลก ย่อมมี "สองด้าน" เสมอ...
สรุป แล้ว Batman ภาคนี้น่าสนใจมากเพราะวิธีที่ผู้กำกับตีโจทย์ของหนังออกมาได้ไม่ธรรมดา แถมไปออกแนวปรัชญาซึ่งโดนจริตตัวเองเข้าอย่างจัง
อ่านแล้วรู้สึกว่าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับฮีโร่ของคุณ ว่าวันหนึ่งเขาอาจกลายเป็นตัวร้ายก็ได้ คิดเห็นอย่างไรแสดงความเห็นไว้ด้านล่างนี้ได้นะครับ